การเรียนการสอนในอเมริกาและยุโรป ไม่ว่าจะเป็นระดับประถมหรือมัธยมศึกษาต่างก็ใช้วิธีการคล้ายคลึงกัน คือ ครูจะสอนโดยการเรียกนักเรียนทีละคนหรือหลายคนมาที่โต๊ะของเขาเพื่อให้นักเรียนอ่านออกเสียงหรือท่องจำสิ่งต่าง ๆ ที่ครูกำหนดให้ วิธีการอื่น ๆ เช่น การพัฒนาความเข้าใจโดยการอภิปรายกลุ่มนั้น ไม่มีครูคนใดรู้จัก ดังนั้นเมื่อสอนเกี่ยวกับการเขียน ครูจะเขียนเป็นแบบแล้วให้นักเรียนลอกตามการสอนส่วนมากจะเป็นไปอย่างผิวเผินและไม่มีประโยชน์ ช่วงเวลาการเรียนก็สั้น (ประมาณ 16 เดือน) ดังนั้นจึงมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ออกจากโรงเรียนไป โดยที่อ่านออกเขียนได้เพียงเล็กน้อยและนอกจากนั้น ครูเองยังไม่กล้าที่จะจูงใจนักเรียนและควบคุมวินัยในชั้นด้วย ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ความขาดแคลนสถานที่เรียนเริ่มเป็นปัญหาสำคัญ ดังนั้น ปัญหาเรื่องประชากรอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับประชาชนที่ยากจนในอเมริกาในยุคนั้น ประกอบกับในช่วงเวลานี้มีการพัฒนาขยายงานด้านอุตสาหกรรม มีการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานและบ้านเมืองมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการทางการศึกษาก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่วิธีการสอนแบบเก่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นจึงได้เกิดระบบแลนคาสเตอร์ขึ้นมาในอเมริกา เพื่อจัดการศึกษาแบบมวลชน (Mass Education) ซึ่งเสนอวิธีการศึกษาแบบประหยัด
1 เทคโนโลยีการศึกษาของแลนตาสเตอร์
Joseph Lancaster (1778-1838) ได้ริเริ่มการสอนระบบพี่เลี้ยง (Monitor System) อันยังผลให้เขาประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาในยุคนั้น วิธีการของเขาก็คือ การจัดสภาพห้องเรียนและดำเนินการสอนแบบประหยัด รวมถึงการจัดระบบเนื้อหาวิชาที่เรียนโดยพิจารณาถึงระดับชั้น สำหรับการสอนนักเรียนเป็นชั้นหรือเป็นกลุ่ม แนวคิดของเขาได้รับอิทธิพลมาจากคอมินิอุส และวิธีการของพระเยซูคริสต์ จึงทำให้เขาศึกษาการเลือกใช้สื่อที่มีประสิทธิภาพในการเรียนการสอน วิธีการของเขารู้จักกันในนามของ Lancaster's Method และจัดว่าเป็นรากฐานสำคัญของระบบทฤษฎีการเรียนรู้อีกด้วย แนวคิดของเขานอกจากจะขึ้นอยู่กับอิทธิพลทางแนวคิดของคอมินิอุสดังกล่าวมาแล้ว เขายังยอมรับแนวคิดของ John Locke ซึ่งกำลังมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในขณะนั้นด้วย
วิธีการสอนของแลนคาสเตอร์ พยายามใช้วัสดุอุปกรณ์ราคาถูกและประหยัด แม้แต่ห้องเรียนก็จุนักเรียนได้มากกว่า วัสดุที่ใช้ เช่น กระดานชนวน กระบะทราย แผนภูมิ ผนังและกระดานดำ ทำให้ประหยัดกระดาษและหมึกได้มากกว่า และนอกจากนั้นทางโรงเรียนยังจัดหนังสือที่ใช้เรียนให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นอีกด้วย ดังนั้นวิธีการของเขาจึงเป็นการริเริ่มการสอนแบบมวลชน และเป็นพื้นฐานของการจัดการศึกษาแบบให้เปล่าของรัฐในเวลาต่อมาด้วย
วิธีสอนของแลนคาสเตอร์ มีรายละเอียดที่สำคัญอยู่ 6 ประการ คือ
1.การสอนความจำด้วยการท่องจำเนื้อหา
1.การสอนความจำด้วยการท่องจำเนื้อหา
2.การฝึกแบบมีพี่เลี้ยง
3.การควบคุม
4.การจัดกลุ่ม
5.การทดสอบ
6.การจัดดำเนินการหรือบริหาร
ภายใต้การจัดดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ครูคนหนึ่ง ๆ จะสามารถสอนกลุ่มหัวหน้านักเรียนได้ถึง 50 คน (หัวหน้านักเรียนคือพี่เลี้ยง) และหัวหน้านักเรียนแต่ละคนจะสามารถฝึกนักเรียนได้ 10 คน ดังนั้นครูคนหนึ่ง ๆ ก็จะสามารถสอนนักเรียนจำนวน 500 คนหรือมากกว่านั้นได้ในเวลาเดียวกัน วิธีนี้ได้ปฏิบัติต่อกันมา จนกระทั่งค้นพบวิธีสอนแบบแก้ปัญหา (Problem Solving) ในภายหลัง
2. เทคโนโลยีการศึกษาของเปสตาลอสซี
Johann Heinrich Pestalozzi (1746-1827) เกิดที่เมืองซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ชีวิตการศึกษาของเขาในเบื้องต้นนั้น มุ่งที่จะออกไปเป็นนักกฎหมายแต่ด้วยอิทธิพลของสังคมและความคิดทางการศึกษาของ Jean Jacgues Rousseau (1712-1778) เขาจึงเปลี่ยนวิถีทางชีวิต ไปศึกษาหลักการทางการศึกษาจากหนังสือ Emile ของรุสโซ เขาเริ่มการทดลองที่บ้านของเขาใกล้ ๆ กับหมู่บ้าน Birrfield (1774-1780) ต่อจากนั้นก็มาทำการทดลองต่อในโรงเรียนที่ Stanz (1798) Burgdorf (1799-1804) และ Yverdon (1805-1825) อันเป็นที่ที่เขาทำงานครั้งสำคัญที่สุด ทฤษฎีทางการศึกษาของเปสตาลอสซี เป็นที่รู้จักกันดีจากคำพูดของเขาเอง คือ "I wish to psychologize Instruction" ซึ่งหมายถึง การพยายามทำให้การสอนทั่วไปเข้ากันได้กับความเชื่อของเขาอย่างมีระเบียบและปรับปรุงพัฒนาไปด้วยกัน เขารู้สึกว่าศีลธรรม สติปัญญาและพลังงานทางกายภาพของผู้เรียนควรจะได้รับการคลี่คลายออกมา โดยอาศัยหลักธรรมชาติในการสร้างประสบการณ์อย่างเป็นขั้นตอน จากหลักการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เปสตาลอสซีเชื่อว่า กระบวนการสอนโดยการเพิ่มความรู้สึกต่อความรู้ในเรื่องความเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด นอกจากนั้น เปสตาลอสซี ยังคำนึงถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลอันจะมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย เปสตาลอสซี ได้เสนอแนะกระบวนการของการรับความรู้ของผู้เรียนเป็น 3 ขั้นตอน คือ
1.ให้รู้ในเรื่องส่วนประกอบของจำนวน (เลขคณิต)
1.ให้รู้ในเรื่องส่วนประกอบของจำนวน (เลขคณิต)
2.ให้รู้ในเรื่องของรูปแบบ (Form) เช่น การวาด การเขียน เป็นต้น
3.ให้รู้จักชื่อ และภาษาที่ใช้
นอกจากนั้น เปสตาลอสซี ยังมีความเห็นเกี่ยวกับการศึกษาและการเรียนการสอน พอสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
1.รากฐานสำคัญยิ่งของการให้ความรู้ก็คือ การหัดให้นักเรียนรู้จักใช้การสังเกต (Observation and Sense-Perception)
1.รากฐานสำคัญยิ่งของการให้ความรู้ก็คือ การหัดให้นักเรียนรู้จักใช้การสังเกต (Observation and Sense-Perception)
2.การเรียนภาษา ครูต้องพยายามให้นักเรียนใช้การสังเกตให้มากที่สุด นั่นคือ เมื่อเรียนถ้อยคำก็ต้องใช้คู่กับของจริงที่เขาใช้เรียกชื่อสิ่งนั้น
3.การสอนครูต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่ง่ายที่สุดก่อน แล้วจึงเพิ่มความยากขึ้นไปตามลำดับ
4.เวลาเรียนต้องให้นักเรียนเรียนจริง ๆ อย่าเสียเวลาไปกับการวิพากษ์วิจารณ์ความรู้เหล่านั้น
5.ให้เวลาเพียงพอแก่นักเรียนแต่ละคน
6.ต้องยอมรับในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล
7.ต้องทำให้นักเรียนรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ต่างไปจากที่บ้าน
แนวความคิดของเปสตาลอสซีนี้ นอกจากจะมีอิทธิพลในสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อวงการศึกษาในยุโรปด้วย โดยเฉพาะในประเทศเยอรมันนีนั้น ฟรอเบลเป็นบุคคลหนึ่งที่ยอมรับแนวคิดของเปสตาลอสซี
3 เทคโนโลยีทางการศึกษาของฟรอเบล
Friedrich Wilhelm Froebel (1782-1852) เป็นนักการศึกษา ซึ่งได้เจริญรอยตามความคิดเห็นของเปสตาลอสซี ฟรอเบล เกิดที่เมือง oberwcissbach ประเทศเยอรมันนี และได้ร่วมงานด้านการสอนกับเปสตาลอสซี ที่ฟรังเฟิท เขารู้สึกพอใจและสนใจมาก โดยเฉพาะการสอนเด็กเล็ก ทำให้ฟรอเบลมีความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะปฏิวัติการศึกษาของเด็กเสียใหม่ จึงกลับไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เมื่อจบการศึกษาแล้วได้ออกมาตั้งโรงเรียนอนุบาลขึ้นเป็นแห่งแรกที่เมืองแบลงเกนเบอร์ก (Blankenburg)ในปี ค.ศ. 1837 ฟรอเบลมีความเชื่อในเรื่องศาสนาเป็นพื้นฐาน เขาเห็นว่าการเกิดของแร่ธาตุก็ดี การเจริญเติบโตของต้นไม้ก็ดี ตลอดจนพัฒนาการของเด็กทั้งหลายนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากพระเจ้า ดังนั้นจุดมุ่งหมายของนักการศึกษาก็คือการควบคุมดูแลเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่เท่านั้นเช่นเดียวกับจุดมุ่งหมายของคนทำสวนคือการควบคุมดูแลต้นไม้ต้นเล็ก ๆ ไปจนมันเจริญเติบโตออกดอกผลในที่สุด อย่างไรก็ตาม การควบคุมดูแล (Control) ตามแนวคิดของฟรอเบลนี้ ยังมีความหมายกว้างออกไปถึงการควบคุมพัฒนาการต่าง ๆ โดยให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับชีวิตจริงในฐานะที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย องค์ประกอบพื้นฐานในการให้การศึกษาแก่เด็กของฟรอเบล มีอยู่ 4 ประการคือ
1.ให้โอกาสผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองอย่างเสรี
2.ให้โอกาสผู้เรียนได้คิดสร้างสรรค์
3.ให้โอกาสผู้เรียนได้มีส่วนร่วม
4.ให้ผู้เรียนมีโอกาสแสดงออกทางกลไกหรือกายภาพ อันได้แก่ การเรียนโดยการกระทำ (To Learn a thing by doing not through verbal Communications alone)
วิธีสอนของฟรอเบลเน้นที่การสอนเด็กอนุบาล ดังนั้นการสอนจึงออกมาในรูปการเรียนปนเล่น ซึ่งมีหลักการที่สำคัญอยู่ 3 ประการคือ
1.การเล่นเกมและร้องเพลง
2.การสร้าง
3.การให้สิ่งของและใช้งาน
การร้องเพลงและการเล่นเกม เป็นการสร้างกำลังให้เกิดขึ้นในเด็ก ส่วนการสร้างได้แก่ การวาดภาพ การตัดกระดาษ การทำหุ่น ฯลฯ เพื่อช่วยให้เกิดความพร้อมและคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ส่วนการให้สิ่งของและการให้งานนั้น เป็นขั้นสุดท้ายของฟรอเบล สำหรับการสอนเด็กเล็ก เช่น เริ่มจากการให้เล่นลูกบอล ต่อมาก็ให้วัตถุสามมิติรูปทรงต่าง ๆ เพื่อให้เด็กได้เริ่มคิดสรรค์สร้างตามจินตนาการของเขา
4 เทคโนโลยีการศึกษาของแฮร์บาร์ท
แฮร์บาร์ท เป็นนักการศึกษาคนหนึ่งที่สืบทอดเจตนารมย์ของคอมินิอุสและเปสตาลอสซีนักการศึกษาทั้งสอง และได้ชี้ให้เห็นแนวทางในการสร้างความคิดรวบยอดใหม่จากความคิดรวบยอดเดิม นอกจากนั้น แฮร์บาร์ทยังได้เน้นในเรื่องของจริยธรรม (Moral) โดยถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษาและเขาจะใช้อุปกรณ์ทางประวัติศาสตร์เพื่อให้การสอนบรรลุเป้าหมายข้างต้น ดังนี้จะเห็นว่าแนวคิดของเขาก็มีอิทธิพลแนวคิดของฟรอเบลแทรกอยู่ไม่น้อย
ทฤษฎีทางการศึกษาของแฮร์บาร์ท ค่อนข้างจะแตกต่างไปจากนักการศึกษา รุ่นก่อน ๆ กล่าวคือ แฮร์บาร์ทได้วางรากฐานเกี่ยวกับวิธีสอนของเขาโดยอาศัยระบบจิตวิทยาการเรียนรู้ นับได้ว่าเขาได้เป็นผู้ริเริ่มจิตวิทยาการเรียนรู้สมัยใหม่เป็นคนแรกที่สอดคล้องกับวิธีการของ Locke ที่เรียกว่า Tabula Rasa (Blank Tablet) เกี่ยวกับทฤษฎีทางจิต และได้สรุปลำดับขั้นสองการเรียนรู้ ไว้ 3 ประการ ดังนี้
1. เริ่มต้นด้วยกิจกรรมทางวิถีประสาท (Sense Activity)
2. จัดรูปแบบแนวความคิด (Ideas) ที่ได้รับ
3. เกิดความคิดรวบยอดทางความคิดหรือเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น