วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

3.) เทคโนโลยีการศึกษา ค.ศ.1900-ปัจจุบัน (พ.ศ.2443-ปัจจุบัน)

ใน ค.. 1900 William James ได้เขียนหนังสือชื่อ Talks to Teacher on Psychology อันแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ในการสอนนั่นก็หมายความว่า ได้เริ่มมีผู้นำวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในการสอนกันแล้ว และในปีเดียวกันนี้ John Dewey (1859-1952) ได้นำวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในการสอน และทำให้ห้องเรียนเป็นห้องปฏิบัติการทดลองด้วย รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง คือ ค.. 1900 Edward  I. Thorndike (1874-1949) ได้เสนอวิชาการวัดผลการศึกษาเป็นวิชาหนึ่งในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและต่อมาได้กลายเป็นวิธีการวิจัยปัญหาต่าง ๆ ทางการสอนเป็นวิธีแรก ดังนั้น ธอร์นไดค์ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชาการวัดผลการศึกษา G. Stanley Hall (1846-1924) ได้เขียนหนังสือชื่อ Adolescence (1904) นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ Alfred Binet (1857-1911) และ Theodore Simon ได้ร่วมกันเขียนหนังสือชื่อ A Method of Measuring The Intelligence of Yound Children ดังนั้นจะเห็นได้ว่า วิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรมที่แท้ และทฤษฎีการเรียนรู้โดยเฉพาะได้เริ่มนำเข้ามาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีทางการสอนในช่วงนี้เอง
ในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 ปรากฏว่า ทฤษฎีทางการสอนของธอร์นไดค์ และดิ้วอี้ นั้นไม่สามารถจะได้ด้วยกันได้ เนื่องจากดิวอี้เน้นในเรื่องของการปฏิบัติ ซึ่งอาศัยพื้นฐานการสังเกตและการตั้งสมมติฐานแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง ถึงแม้เขาจะย้ำให้มีการสอบถาม การทดสอบและการวิจารณ์อยู่บ้างก็ตามที ในทางตรงกันข้าม ธอร์นไดค์ กลับใช้การสังเกตและการสืบสวนเป็นหลักการสำคัญ ดังนั้นทฤษฎีของธอร์นไดค์จึงถูกนักการศึกษากลุ่มของดิวอี้ซึ่งเชื่อหลักเสรีประชาธิปไตยของการเรียนด้วยการปฏิบัติคัดค้าน ถึงแม้วิธีการของดิวอี้จะยังไม่ได้รับการทดสอบก็ตาม
1.เทคโนโลยีการศึกษาของธอร์นไดค์
Edward L. Thorndike (1874-1949) นักการศึกษาและจิตวิทยาชาวอเมริกาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้เป็นผู้ให้กำเนิดทฤษฎีแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ มีชื่อว่า ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Connectionism Theory) จากการที่ธอร์นไดค์ ได้ศึกษาเรื่อง การเรียนรู้ของสัตว์ และต่อมาได้กลายมาเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ทั่วไปโดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั้น เป็นที่รู้จักกันดีในนามทฤษฎีความสัมพันธ์เชื่อมโยง ในเรื่องนี้ นอกจากธอร์นไดค์จะได้ย้ำในเรื่องการฝึกหัดหรือการกระทำซ้ำแล้ว เขายังให้ความสำคัญของการให้รางวัลหรือการลงโทษ ความสำเร็จหรือความผิดหวังและความพอใจหรือความไม่พอใจแก่ผู้เรียนอย่างทัดเทียมกันด้วย
ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดค์ ได้เน้นที่ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่าง สิ่งเร้า (Stimulus) กับการตอบสนอง (Response) เขาเชื่อว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการที่มนุษย์หรือสัตว์ได้เลือกเอาปฏิกิริยาตอบสนองที่ถูกต้องนั้นมาเชื่อมต่อ (Connect) เข้ากับสิ่งเร้าอย่างเหมาะสม หรือการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็โดยการสร้างสิ่งเชื่อมโยง (Bond) ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองให้เกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงเรียกทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ว่า ทฤษฎีเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับตอบสนอง (S-R Bond Theory) หรือทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Conectionism Theory)
จากการทดลองและแนวความคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ ดังกล่าวมาข้างต้น เขาได้เสนอกฎการเรียนรู้ที่สำคัญขึ้นมา 3 กฎ อันถือว่าเป็นหลักการเบื้องต้นที่นำไปสู่เทคโนโลยีทางการศึกษาและการสอน กฎทั้ง 3 ได้แก่
1.กฎแห่งการฝึกหัดหรือการกระทำซ้ำ (The Law of Exercise or Repetition) ซึ่งเขาได้ชี้ให้เห็นว่า การกระทำซ้ำหรือการฝึกหัดนี้ หากได้ทำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จะทำให้การกระทำนั้น ๆ ถูกต้องสมบูรณ์และมั่นคง
2.กฎแห่งผล (The Law of Effect) เป็นกฎที่มีชื่อเสียงและได้รับความสนใจมากที่สุด ใจความสำคัญของกฎนี้ก็คือรางวัลหรือความสมหวัง จะช่วยส่งเสริมการแสดงพฤติกรรมนั้นมากขึ้น แต่การทำโทษหรือความผิดหวังจะลดอาการแสดงพฤติกรรมนั้นลง
3.กฎแห่งความพร้อม (The Law of Readiness) กฎนี้หมายถึงความพร้อมของร่างกาย ในอันที่จะแสดงพฤติกรรมใด ๆ ออกมา
2.เทคโนโลยีการศึกษาของดิวอี้
เทคโนโลยีการศึกษาและการสอนของ จอห์น ดิวอี้ มีความสำคัญต่อระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวความคิดในการแก้ปัญหา (Problem-Solving) ดิวอี้ได้ศึกษาเรื่องนี้กับ ฮอลล์ ที่มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอบกิน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต หลังจากที่ดิวอี้ จบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เขาได้สอนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน มินิโซตา และชิคาโก จากนั้นเขาได้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี ค..1904 นักจิตวิทยาการเรียนรู้ของจอห์น ดิวอี้ ตรงกับข้ามกับ ธอร์นไดค์ ดิวอี้ เชื่อว่าสิ่งเร้ากับปฏิกิริยาตอบสนอง ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน แต่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ดิวอี้ ได้โจมตีพวกมีความเชื่อในเรื่องมโนภาพแบบสะท้อนกลับ (The Reflect Arc Concept) ซึ่งยืนยันการเรียนรู้รวมเอาการมีผลกระทบต่อกัน ระหว่างผู้เรียนกับสิ่งแวดล้อมของเขาเข้าไว้ด้วยจากการทดลองของดิวอี้ที่มีต่อเทคโนโลยีการศึกษานั้น น่าจะได้แนะแนวความคิดของเขาที่เกี่ยวกับการสอน ซึ่งเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์สำหรับดิวอี้ ควรคิดที่ให้ผลคุ้มค่าก็คือวิธีการไตร่ตรอง (Reflective Method) หรือการพิจารณาอย่างรอบคอบและแน่นอน เกี่ยวกับความเชื่อหรือแบบแผนของความรู้ที่เกิดขึ้น สาระของวิธีการแบบไตร่ตรองของดิวอี้ มีอยู่ในหนังสือชื่อ How We Think ซึ่งได้กล่าวถึงการไตร่ตรองในฐานะที่เป็นความเคลื่อนไหวทางจิตวิทยา โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.ผู้เรียนปะทะกับปัญหา เขาจะต้องรู้จุดมุ่งหมายบางอย่าง และรู้สึกถูกกีดกันจากอุปสรรคที่สอดแทรกเข้ามา ดังนั้นเขาจำเป็นต้องทำให้มีความต่อเนื่องกัน
2.หลังจากได้ปะทะกับปัญหา หรือรู้สึกว่าข้อมูลที่รู้มาขัดแย้งกัน เขาจะตั้งสมมติฐานขึ้นเพื่อกำหนดคำตอบลองดู ซึ่งอาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ใช้ได้
3.บางครั้งภาวะการณ์ที่เป็นปัญหา ได้รับการตรวจสอบและสังเกตเพื่อเอาความและประสบการณ์ที่มีอยู่มาใช้เพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งขึ้น ขั้นตอนต่าง ๆ ที่นำมาให้ต่อเนื่องกันเป็นกิจกรรมของผู้เรียน หรือจุดมุ่งหมายของผู้เรียน จะต้องได้รับการทำให้เห็นได้ชัดเจนเพียงพอ
4.ผู้เรียนต้องทดสอบสมมติฐานต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้น และพยายามพิสูจน์ผลที่ได้รับจากสมมติฐานนั้น
5.สุดท้ายผู้เรียนจะต้องสรุปให้ได้ ซึ่งจะรวมเอาทั้งการยอมรับ การขยายหรือการปฏิเสธสมมติฐานหรือมันอาจจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าหลักฐานที่เชื่อถือได้ ไม่อาจทำให้มีพื้นฐานสำหรับการกระทำ หรือไม่อาจจะทำให้ได้ข้อความ (Statement) ที่ยืนยันได้แน่นอน
3. เทคโนโลยีการศึกษามอนเตสซอรี
Maria Montessori (1870-1952) นักการศึกษาสตรีชาวอิตาลีผู้บุกเบิกเกี่ยวกับการสอนแบบ Nourishing สำเร็จการศึกษาทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยโรม แต่เพราะความสนใจในเรื่องพัฒนาการและกิจกรรมของเด็ก ทำให้เธอหันเหชีวิตจากงานด้านการแพทย์เข้ามาสู่การศึกษา เธอไปเป็นครูระหว่างปี ค..1899-1901ในช่วงนี้เธอได้ปรับปรุงเทคนิคการสอนทางจิตของเด็กที่พิการเพราะขาดแคลนอาหาร โดยอาศัยพื้นฐานทางวิธีการและอุปกรณ์ของ Seguin (เป็นนักเทคโนโลยีทางการศึกษาชาวฝรั่งเศลที่ศึกษาเกี่ยวกับเด็กพิการทางจิต เช่น Idiot เป็นต้น เขามีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.. 1812-1880)
เมื่อมอนเตสซอรีเขียนหนังสือ "Scientific Pedagogy as Applied to Child Education in the Children's Houses" ออกพิมพ์เผยแพร่ในปี ค..1909 ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป นักการศึกษาสำคัญ ๆ จากทั่วโลกไปสังเกตวิธีสอนที่โรงเรียนของเธอเป็นจำนวนมาก
แนวคิดพื้นฐานของวิธีสอนแบบมอนเตสซอรี เทคโนโลยีการศึกษาและการสอนของมอนเตสเซอรี มีลักษณะที่สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
1.การจัดกิจกรรมของโรงเรียนให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน
2.แบ่งเด็กให้มีโอกาสทำงานได้อย่างอิสระ โดยไม่ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนฝ่ายเดียว
3.เน้นในเรื่องลักษณะการแบ่งแยกระบบประสาทสัมผัส
หลักการพื้นฐานของวิธีการสอนแบบมอนเตสซอรี มีอยู่ 2 ประการคือ
1.ยอมรับในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ทำงานอย่างมีอิสระ โดยไม่คำนึงถึงแต่เพียงเฉพาะในเรื่องของสภาวะทางกายภาพในห้องเรียนและบรรยากาศทางจิตวิทยาเท่านั้น
2.ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน สื่อการสอนและธรรมชาติของกระบวนการสอนด้วย
4.เทคโนโลยีการศึกษาของเลวิน
จากการศึกษาค้นคว้าทดลองของ Kurt Lewin ที่มหาวิทยาลัยแห่งเบอร์ลิน ประมาณปลายปี ค..1920 ทำให้เกิดหลักการทฤษฎีที่สำคัญขึ้นมาทฤษฎีหนึ่ง และถึงแม้ทฤษฎีนี้จะได้ทดลองปฏิบัติอย่างใกล้ชิดกับจิตวิทยาเกสตัลท์ ในกรุงเบอร์ลินก็ตาม แต่ทฤษฎีของเลวิน มีความสัมพันธ์กับนักจิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์ตามที่คนทั่ว ๆ ไปเข้าใจอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
ทฤษฎีทั่ว ๆ ของเลวิน ถึงแม้การกล่าวถึงทฤษฎีทั่ว ๆ ไป ของเลวินจะไม่ใช่จุดมุ่งหมายของเราในการศึกษาเรื่องพัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษา แต่การได้ทราบถึงจุดเริ่มของการศึกษาค้นคว้าและทฤษฎีของเขา จะช่วยให้เราเข้าใจมูลฐานของการสร้างทฤษฎีการเรียนรู้ของเขาแจ่มแจ้งขึ้น ทฤษฎีของเลวินมีลักษณะคล้ายกับทฤษฎีกลุ่มเกสตัลท์ ในแง่ที่ว่า เขาได้เน้นในเรื่องการจัดสถานการณ์เพื่อการตอบสนองในลักษณะรวมทั้งหมด (As a whole) ไม่ใช่การพิจารณาส่วนย่อยของสถานการณ์หรือสิ่งนั้น ๆ แต่ทฤษฎีของเลวินก็ต่างไปจากเกสตัลท์ในเรื่องเกี่ยวกับการจูงใจ โดยเขาได้เน้นในเรื่องเกี่ยวกับการจูงใจเป็นหลักการสำคัญ
Life Space หรือที่เราเรียกกันว่า อวกาศแห่งชีวิตตามแนวคิดของเลวินนั้น เขาใช้คำนี้ เพื่อต้องการหมายถึง อวกาศหรือห้วงแห่งชีวิตอันเป็นเสมือนโลกอีกโลกหนึ่งต่างหาก ซึ่งเป็นโลกทางความคิดหรือโลกของจิต (Rsychological World) ของแต่ละบุคคล อวกาศแห่งชีวิตจะมีอิทธิพลหรือความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของบุคคลแต่ละคน ตามแต่เขาจะมีอวกาศแห่งชีวิตอย่างไร
ส่วนความคิดรวบยอดเกี่ยวกับ Topological ของเลวินนั้น เขาใช้เพื่ออธิบายโครงสร้างเกี่ยวกับการรับรู้และปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่ควรจะดำเนินการไปได้ของอวกาศแห่งชีวิตในลักษณะของย่าน (Regions) และอาณาเขตหรือขอบเขต (Boundaries) เช่น ในอวกาศแห่งชีวิตของคน ๆ หนึ่ง สมมติว่าเขากำลังคิดถึงเรื่องของ "การกินในตอนนี้เป็นเรื่องของย่าน (Regions) ความคิดเขาจะมีปฏิกิริยาในขอบเขต (Boundaries) ต่าง ๆ กันออกไปตาม แต่ว่าในขณะนั้น เขาหิวหรืออิ่ม เป็นต้น
 5.ทฤษฎีการศึกษาของสกินเนอร์
ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบอาการกระทำ (Operant Conditioning) หรือพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ของ B.F. Skinner จัดว่าเป็นทฤษฎีที่เสริมต่อจากทฤษฎีจิตวิทยา S-R หรือทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดค์และทฤษฎีพฤติกรรมของ Watson โดยรวมเอาแนวคิดของทฤษฎีทั้งสองเข้าด้วยกัน กล่าวคือ เขามีความเห็นว่ามนุษย์เรานั้นมีลักษณะที่เป็นกลางและอยู่นิ่งเฉย (Man is neutral and passive) ดังนั้น พฤติกรรมทั้งหลายของมนุษย์จึงสามารถอธิบายได้ด้วยเรื่องของกลไก (Mechanistic) ในการควบคุมพฤติกรรม จากการทดลองสกินเนอร์ จึงได้เกิดเป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เขาเรียกว่า ทฤษฎีเงื่อนไขแบบอาการกระทำ (Operant Conditioning) พอสรุปได้ดังนี้ คือ "การกระทำใด ๆ ถ้าได้รับการเร้าด้วยการเสริมแรง อัตราความเข้มแข็งของการตอบสนองจะมีโอกาสสูงขึ้นอย่างไรก็ตาม การเสริมแรงมีทั้งทางบวกและทางลบ ตลอดจนตัวเสริมแรงปฐมภูมิและทุติยภูมิ (Primary and Secondary Reinforces) ดังนั้นพฤติกรรมในด้านการตอบสนองต่อตัวเสริมแรง จึงมีแตกต่างกันออกไปตามแต่ชนิดของการเสริมแรง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น